การผลิตคอนกรีตแบบทั่วไปก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก และใช้วัตถุดิบในปริมาณที่มีนัยสำคัญในระดับโลก โดยการผลิตซีเมนต์ในปัจจุบัน ผู้ผลิตจะให้ความร้อนหินปูน ดินเหนียว ผสมกับวัสดุอื่นๆ แล้วบดให้เป็นผง ซึ่งกระบวนการสร้างปูนซีเมนต์คิดเป็นประมาณ 8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก ตามรายงานปี 2561 ที่จัดทำโดยกลุ่ม Chatham House
ทุกวันนี้นักวิจัยหลายคนได้สำรวจทางเลือกการผลิตคอนกรีตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนมากขึ้น อันเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยในภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยไอดาโฮ สเตท ในสหรัฐอเมริกา รายงานว่าได้สร้างคอนกรีตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยวัสดุคือของเสียจากแปรรูปน้ำตาลมาเป็นส่วนผสม ทีมระบุว่าหินปูนสังเคราะห์หรือพีซีซี (Precipitated Calcium Carbonate- PCC) เป็นของเสียที่เกิดขึ้นเมื่อบีทชูการ์ เป็นตระกูลผักกาดมีหัวใต้ดินแลคล้ายแครอทผสมหัวไชเท้า ถูกแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ซึ่งพีซีซีมีความเป็นไปได้ที่จะรักษาความแข็งแรงของคอนกรีตให้ใกล้เคียงกับคอนกรีตทั่วไป เพราะพีซีซีมีคุณสมบัติทางเคมีเหมือนกับหินปูนตามธรรมชาติ
ทีมได้ทำการทดสอบขนาดเล็กกับตัวอย่างคอนกรีต โดยแต่ละชิ้นมีปริมาณพีซีซีผสมอยู่แตกต่างกัน ผลวิจัยพบว่าพีซีซีสามารถทดแทนปริมาณซีเมนต์ถึง 30% และยังคงเป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ทีมวางแผนที่จะทดสอบส่วนผสมคอนกรีตใหม่และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปกว่านี้อีก เพื่อดูความสามารถในการต้านทานสภาวะการแข็งตัวของน้ำแข็ง ความแข็งของพื้นผิว ฯลฯ และดูว่าวัสดุนี้ทนทานต่อสภาวะในโลกแห่งความเป็นจริงได้หรือไม่.
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.thairath.co.th/news/foreign/2744675