เทคนิคเทพื้นคอนกรีตอย่างไร ให้พื้นเรียบสวย

สำหรับใครหลายคนแล้ว การเทพื้นคอนกรีตอาจดูเป็นเรื่องยากและมีขั้นตอนซับซ้อน แต่เนื่องจากปัจจุบันมีเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่มอบความสะดวกสบายมากมาย รวมถึงปูนซีเมนต์สำเร็จรูปที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเทพื้นบ้าน ส่งผลให้การเทพื้นปูนง่ายขึ้น ช่วยประหยัดเวลาและค่าแรง แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการเทปูนพื้นในที่ที่ไม่กว้างมากจนเกินไป การผสมปูเทพื้นด้วยตัวเองก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ไม่น้อย เพราะช่วยประหยัดงบประมาณในการจ้างช่างได้เป็นอย่างดี แต่ควรจะเตรียมตัวอย่างไร มีเทคนิคอะไร และควรระวังอะไรบ้างนั้น ตามจระเข้ไปดูกันได้เลย!

วิธีการเตรียมเทพื้นคอนกรีต

1. การปรับพื้นก่อนเทคอนกรีต

พื้นทรายและตะแกรงเหล็กเสริม

ภาพ: พื้นทรายและตะแกรงเหล็กเสริม

ก่อนเทพื้นคอนกรีต อันดับแรกที่ต้องให้ความสำคัญจะต้องปรับระดับหน้าดินให้มีความสม่ำเสมอกัน อัดบดดินให้เรียบเสมอกัน หากเป็นพื้นที่ภายในบ้าน ควรถมดินสูงกว่านอกบ้านประมาณ 50 – 80 เซนติเมตร หากสูงกว่านี้ หรือหากไม่ปรับหน้าดินให้เสมอกัน จะส่งผลให้เกิดแรงดันและเกิดความเสียหายได้ หลังจากนั้นเททรายให้มีความหนาประมาณ 5 เซนติเมตร และอัดบดให้แน่น หากไม่บดให้แน่นจะทำให้ทรายยุบตัว และต้องใช้คอนกรีตปริมาณมากกว่าเดิม

2. กำหนดความกว้างและรอยต่อของการเทพื้นคอนกรีต

รอยต่อบนพื้นคอนกรีต

ภาพ: รอยต่อบนพื้นคอนกรีต

ควรกำหนดพื้นที่ให้ที่ต้องการเทพื้นคอนกรีตให้เรียบร้อย ก่อนวางแบบหล่อ และควรกำหนดของรอยต่อ เนื่องจากคอนกรีตนั้นมักจะยืดหรือหดตัวตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง และอาจส่งผลให้เกิดการแตกร้าวได้ ดังนั้นควรกำหนดรอยต่อกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตร โดยควรกำหนดผนังของรอยต่อให้รอบคอบ เพราะหากทำรอยต่อไม่เหมาะสม จะทำให้ไม่สามารถป้องกันการแตกร้าวได้อย่างที่ควรจะเป็น

3. วัดความหนาของพื้นที่

ความหนาของพื้นคอนกรีต

ภาพ: ความหนาของพื้นคอนกรีต

หลังจากปรับพื้นผิวให้เรียบเสมอกันและวัดพื้นแล้ว ควรวัดความหนาของมุมต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้กะปริมาณปูนซีเมนต์ที่ใช้ผสมปูนเทพื้น โดยควรวัดจากหน้างานโดยตรง เพราะหากใช้เพียงข้อมูลจากการจดบันทึกเพียงอย่างเดียวอาจเกิดปัญหากะปริมาณปูนซีเมนต์ผิดได้ ซึ่งทำให้งานเทพื้นคอนกรีตล่าช้าและเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นได้

4. การเตรียมแบบหล่อที่แข็งแรง

แบบหล่อไม้

ภาพ: แบบหล่อไม้

แบบหล่อปูนในการเทพื้นคอนกรีต สามารถใช้ได้ทั้งไม้ พลาสติก เหล็กสำเร็จรูป แต่จะต้องให้ความสำคัญกับความแข็งแรง และบริเวณที่อาจเกิดรอยรั่วต่าง ๆ เพื่อป้องกันน้ำปูนไหลทะลัก โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับเหล็กเสริม แนะนำใช้เหล็กกระทุ้ง หรือเครื่องจี้ไม่ให้น้ำปูนไหลออกจากแบบหล่อ ในกรณีที่ใช้ไม้แบบพลาสติกหรือเหล็กสำเร็จรูป มักไม่ค่อยมีปัญหานัก เพราะวัสดุเหล่านี้ถูกออกแบบเพื่อการใช้งานหล่อเทพื้นปูนอยู่แล้ว

5. วางตะแกรงเหล็กเสริมในตำแหน่งที่ถูกต้อง

การวางตะแกรงเหล็กเสริม

ภาพ: การวางตะแกรงเหล็กเสริม

การวางตะแกรงเหล็กเสริม (Wire Mesh) ควรอยู่ในตำแหน่งต่ำกว่าผิวคอนกรีตประมาณ 3-5 เซนติเมตร หรือหากต้องการวางตะแกรงเหล็กเสริมให้สะดวกมากขึ้น สามารถหนุนเหล็กด้วยปูน เพื่อใหม่ให้เหล็กสัมผัสกับดิน อีกทั้งเหล็กยังช่วยเพิ่มความแข็งแรง ลดโอกาสเกิดการแตกร้าว รวมถึงช่วยให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณภูมิช่วงกลางวันและกลางคืน

หลังจากเตรียมพื้นสำหรับเทพื้นคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็เป็นเทคนิคการเทพื้นให้เรียบสวยและแข็งแรง จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันได้เลย!

เทคนิคการเทพื้นคอนกรีตให้เรียบสวย

1. ผสมปูนให้ได้ปริมาณที่ถูกต้อง

การผสมคอนกรีต

ภาพ: การผสมคอนกรีต

การผสมปูนเทพื้นบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะต้องใช้วิธีผสมปูนซีเมนต์เทพื้นในอัตราส่วนที่เหมาะสม สำหรับโครงการสร้างทั่วไป นิยมใช้ปูนซีเมนต์ ทราย หิน ในอัตราส่วน 1 : 2 : 4 ช่วยให้พื้นคอนกรีตที่ได้แข็งแรง และรับน้ำหนักได้เป็นอย่างดี หากไม่แน่ใจเรื่องสูตรผสมปูนเทพื้น ควรปรึกษาผู้เชียวชาญ หรือศึกษาการผสมปูนในอัตราส่วนที่ถูกต้องบนถุงบรรจุปูนซีเมนต์แต่ละประเภท

2. เทคอนกรีตลงในพื้นที่ที่ต้องการ

การเทพื้นคอนกรีต

ภาพ: การเทพื้นคอนกรีต

หลังจากเตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว ให้เทปูนที่ผสมเสร็จแล้วลงบนพื้นที่ที่กำหนดไว้ จากนั้นเกลี่ยให้ทั่วถึง เมื่อได้ระดับที่ต้องการจึงวางตะแกรงเหล็กลงไปอีกชั้นหนึ่ง และเทคอนกรีตทับลงไปอีกครั้งหนึ่ง ตามลำดับที่กำหนดไว้ หรือจะใช้วิธีเสริมลูกปูนก่อนวางตะแกรงเหล็กเสริมทับ แล้วเทคอนกรีตให้เข้าทั่วตามระดับที่ต้องการ การใช้วิธีนี้จะช่วยลดขั้นตอนการเทพื้นคอนกรีตได้อีกทางหนึ่ง

3. แต่งหน้าพื้นผิว

แต่งพื้นผิวคอนกรีต

ภาพ: แต่งพื้นผิวคอนกรีต

หลังจากเทปูนพื้นให้ได้ตามระดับที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว ก็ปรับแต่งพื้นผิวหรือเกลี่ยพื้นผิวให้เรียบเสมอกัน ด้วยการใช้พลั่วตบผิวคอนกรีต วิธีนี้จะช่วยลดฟองอากาศบนพื้นผิว จะช่วยให้ผิวหน้าเรียบมากยิ่งขึ้น หากมีน้ำเยิ้มที่ผิวหน้าพื้นปูนซีเมนต์ ให้ทิ้งไว้จนน้ำหายเยิ้มเสียก่อน แล้วปาดน้ำทั้งหมดทิ้ง เพื่อช่วยป้องกันผิวหน้าเป็นฝุ่นหลังแห้งตัว

4. ตรวจสอบความผิดปกติ

พื้นคอนกรีตที่เริ่มเซ็ตตัว

ภาพ: พื้นคอนกรีตที่เริ่มเซ็ตตัว

หลังเทพื้นคอนกรีตเรียบร้อยแล้ว ควรสังเกตดูความผิดปกติต่าง ๆ เช่น รอยรั่ว รอยร้าว รวมไปถึงตรวจสอบว่ามีคอนกรีตโก่งตัวหรือไม่ เพื่อที่จะแก้ข้อผิดพลาดได้เลยทันที ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจทำให้เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมเป็นจำนวนมาก

5. บ่มคอนกรีต

การบ่มคอนกรีต

ภาพ: การบ่มคอนกรีต

หลังจากเทพื้นคอนกรีตและปรับพื้นผิวเรียบร้อยแล้ว ก็ถึงขั้นตอนบ่มคอนกรีต โดยปล่อยคอนกรีตให้เริ่มแข็งตัว และฉีดน้ำให้ชุ่ม แล้วทิ้งไว้ไม่ต่ำกว่า 7 วัน จะช่วยให้พื้นคอนกรีตที่ได้แข็งแรง ทนทานมากยิ่งขึ้น โดยขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก หากไม่บ่มคอนกรีตในระยะเวลาที่เหมาะสม จะทำให้พื้นรับแรงได้น้อยกว่าที่ควร และทำให้เกิดการแตกร้าวได้ง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดสนิมที่เหล็กเสริมได้ง่ายมากขึ้นอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.jorakay.co.th/blog/owner/floor/how-to-pour-concrete-make-the-floor-smooth-and-beautiful